NUNA

เที่ยวสนุกที่ประจวบ

SUCHADA

รูปภาพของฉัน
บัญชี, เอกชน, Thailand
อนาคตอยากทำความฝันตัวเองให้สำเร็จคือ การเป็นครูที่ดี

วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556

วิจัยในชั้นเรียนวิชาคณิตศาสตร์


วิจัยในชั้นเรียนวิชาคณิตศาสตร์
ชื่อเรื่อง   การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้วิธีการเรียนการสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน  ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  4  โรงเรียนคลองลาดกระบัง  อำเภอบางพลี  จังหวัดสมุทรปราการ                         
ชื่อผู้วิจัย        นางสาวสุชาดา      ผัดผ่อง                                                                ภาคเรียนที่  1  ปีการศึกษา  2555
....................................................................................................................................................................                                                                                                                     
ความเป็นมาของการวิจัย
จากการที่ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้สอนวิชาคณิตศาสตร์   ซึ่งเป็นวิชาที่ต้องคำนวณนักเรียนจะรู้สึกเบื่อหน่ายได้ง่าย  ข้าพเจ้าได้สังเกตการเรียนการสอน  พบว่า  จากการที่ครูผู้สอนได้ถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียนในชั้น   หลังจากการสอนครูได้ประเมินผล  โดยการมอบหมายให้ทำแบบฝึกหัด ใบกิจกรรม  และแบบทดสอบ  พบว่านักเรียนบางคนไม่สามารถทำแบบฝึกหัด  ทำใบกิจกรรม  และทำข้อสอบได้ผ่านเกณฑ์ ที่กำหนด  ซึ่งปัญหาดังกล่าวนั้น  เกิดจากการที่นักเรียนบางคนเรียนรู้ได้ช้า  และมีความสามารถในการเรียนรู้ไม่เท่ากัน  ข้าพเจ้าจึงได้หาวิธีการที่จะจูงใจให้นักเรียนมีความสนใจ  และกระตุ้นให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นมากขึ้น   กิจกรรมการเรียนการสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อนนั้น  เป็นวิธีการที่ช่วยสนับสนุนวิธีการดังกล่าวได้ทางหนึ่ง  โดยให้เพื่อนได้มีบทบาทสำคัญในการเรียน  เพื่อนและกลุ่มมีอิทธิพลในการสร้างความสนใจ  จูงใจ  และการยอมรับของเพื่อนด้วยกัน   ซึ่งการเรียนการสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน  การทำกิจกรรมกลุ่ม  การเรียนเป็นกลุ่มย่อย  หรือการเรียนร่วมกัน  มีประโยชน์ ดังนี้
1. นักเรียนได้รับประโยชน์จากเพื่อนและมีโอกาสได้รับประสบการณ์ในการแก้ปัญหาหลายวิธี
2. นักเรียนที่เรียนเก่งมีโอกาสขยายความรู้ให้เพื่อนฟังได้ และช่วยเหลือเพื่อนที่เรียนอ่อนได้
3. ทำให้นักเรียนรู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น ปรับตัวเข้ากับสังคมและรู้สึกชอบโรงเรียนมากยิ่ง ขึ้น
4. นักเรียนเข้าใจวัฒนธรรมของผู้อื่นมากยิ่งขึ้น มีความสัมพันธ์กันเป็นอันดี แม้จะมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน ได้ช่วยกันแก้ปัญหาซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยพัฒนาทักษะทางชีวิตที่สำคัญ
5. ทำให้บรรยากาศในการเรียนมีความสนุกสนานน่าเรียน
6. ทำให้นักเรียนกล้าพูดกล้าซักถาม และกล้าแสดงความคิดเห็นต่อหน้าเพื่อนในชั้น
7. ช่วยครูในการสอนและควบคุมชั้นเรียน
การจัดการเรียนการสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน  จะใช้วิธีเฟ้นหาเพื่อนที่เก่งช่วยเพื่อนที่เรียนอ่อนทำให้มีผลการเรียนดีขึ้น  โดยกำหนดให้มีนักเรียนที่เก่งเป็นแกนนำของกลุ่ม  คอยช่วยเหลือ  แนะนำ  อธิบายหัวข้อต่างๆ  ที่เพื่อนในกลุ่มไม่เข้าใจ  คอยติดตามช่วยเหลือจนเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ  ความสนิทสนม  และใกล้ชิดของกลุ่มทำให้ผู้มีปัญหามีความรู้สึกเกิดการยอมรับ  อยากพัฒนาเอง  จนส่งผลให้เกิดการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดียิ่งขึ้น
 วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการวิจัย
          เพื่อพัฒนาวิธีการเรียนของนักเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  4  โรงเรียนคลองลาดกระบัง  โดยมีเป้าหมายให้นักเรียนทุกคนมีผลการเรียนผ่านเกณฑ์ที่กำหนด  
วิธีดำเนินการวิจัย
    กลุ่มเป้าหมาย
         กลุ่มเป้าหมายในการวิจัยคือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  4   โรงเรียนคลองลาดกระบัง จำนวนนักเรียนทั้งหมด 23 คน เป็นผู้ชาย  11  คน และผู้หญิง  12  คน 
   เครื่องมือในการวิจัย
1. รูปแบบการเรียนการสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน
2. แบบบันทึกคะแนน
3. สมุดแบบฝึกหัดและใบกิจกรรมของนักเรียน
  การเก็บรวบรวมข้อมูล
1. แบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็นกลุ่ม ในแต่ละกลุ่มจะเฟ้นหานักเรียนที่เก่ง  และมีความรับผิดชอบ  มีลักษณะเป็นผู้นำมอบหมายให้เป็นหัวหน้ากลุ่ม
2. ครูผู้สอนชี้แจงการเรียนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน โดยหลังจากครูสอนในแต่ละครั้งก็จะมอบหมายให้นักเรียนทำแบบฝึกหัด  โดยนักเรียนนั่งทำแบบฝึกหัดระดมสมองช่วยกันคิด  หากหัวข้อใดสมาชิกในกลุ่มไม่เข้าใจ ผู้ที่เข้าใจก็จะช่วยกันอธิบายจนเพื่อนเข้าใจ  หากสมาชิกในกลุ่มยังไม่เข้าใจก็จะปรึกษาครูผู้สอน
3. ครูสังเกตการทำกิจกรรมของกลุ่ม  การช่วยกันแก้ปัญหา  ความสนใจ  และความตั้งใจของสมาชิกในกลุ่ม
4. สังเกตผลการทำแบบฝึกหัดว่าดีขึ้นหรือไม่
5. สังเกตการประเมินตามสภาพจริงในแต่ละครั้ง
6. วัดผลการเรียนเมื่อสิ้นบทเรียน
ผลการวิจัย
            ผลจากการจัดการเรียนการสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อนมาใช้ในการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์  ปรากฎว่า  นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์ที่กำหนดทุกคน  และกิจกรรมกลุ่มทำให้เกิดบรรยากาศที่ดี ช่วยให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นสนใจ  ตั้งใจ  และมีความรับผิดชอบมากขึ้น  อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา  ช่วยสร้างความสามัคคี  รู้จักแก้ปัญหาร่วมกัน
ข้อเสนอแนะ
1. ครูผู้สอนจะต้องคอยติดตามดูแล การปฏิบัติงานกลุ่มอย่างต่อเนื่อง                                                                   
2. ควรเฟ้นหาหัวหน้ากลุ่มที่เก่ง  และมีคุณภาพจริงๆ
3. ครูผู้สอนจะต้องคอยให้แรงเสริมแก่นักเรียนอย่างต่อเนื่อง

4. ครูผู้สอนควรแจ้งผลการประเมินทุกครั้งเพื่อกลุ่มจะได้ปรับปรุงและพัฒนาตัวเองในจุดที่ยังด้อยอยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น